วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ในหลวง : หญ้าแฝก

ลักษณะของหญ้าแฝก


หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 12 ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย 2 ชนิด ได้แก่ 
1. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 และพระราชทาน ฯลฯ 
2. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น 
หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะ แคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกันแน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีช่อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน


ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก
การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้ 
            1. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
            2. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
            3. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
            4. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้
            5. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
            6. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
            7. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
            8. ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป
            9. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ


พันธุ์หญ้าแฝก


 หญ้าแฝกลุ่ม 
(Vetiveria zizanioides Nash)
ลักษณะที่สำคัญ คือ หลังใบโค้งปลายใบ แบนมีสีเขียวเข้ม เนื้อใบค่อนข้างเนียน มีใขเคลือบ (wax) มากทำให้ดูมัน ท้องใบออกสีขาว ซีดกว่าด้านหลังใบ และเมื่อนำใบส่องดูกับแดดจะเห็นรอยกั้นขวางในเนื้อใบ (septum) โดยเฉพาะพื้นใบบริเวณส่วนโคนและกลางใบ เส้นกลางใบ (midrib) ฝังอยู่ในตัวแผ่นใบไม่โตหรือเด่นชัดเจน
หญ้าแฝกลุ่มอายุประมาณ 1 ปี จะมีรากที่หยั่งลึกได้ประมาณกว่า 1 เมตร จะขึ้นอยู่กับสภาพของดินและความสมบูรณ์ของพืช โดยเฉพาะดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดีหญ้าแฝกจะให้รากยาวที่สุด
สายพันธุ์กำแพงเพชร 2
ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อค่อนข้างหลวม ใบมีสีเขียว ท้องใบมีสีขาว ใบค่อนข้างเล็ก ความกว้างของใบเฉลี่ย 0.9 เซนติเมตรใบจะเป็นมัน ดอกสีม่วงน้ำตาล


สายพันธุ์ศรีลังกา
ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อค่อนข้างหลวม ใบมีสีเขียว ท้องใบมีสีขาว ใบค่อนข้างเล็ก ความกว้างของใบเฉลี่ย 0.9 ซม. ใบจะเป็นมัน ดอกสีม่วงน้ำตาล


สายพันธุ์สุราษฎร์ธานี
ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อค่อนข้างหลวม ทรงพุ่มกาง หน่อใหญ่ มีการยึดปล้องเร็วใบสีเขียว ท้องใบมีสีขาวลายหยาบ ความกว้างของใบ 1 ซม. ดอกสีม่วงแดง


สายพันธุ์สงขลา
ลักษณะกอปรก ทรงพุ่มกาง ใบมีสีเขียว ท้องใบมีสีขาวละเอียด ใบค่อนข้างใหญ่ ความกว้างของใบ 1.4 ซม. ใบจะเป็นมันและอ่อน ดอกสีม่วงแดง



หญ้าแฝกดอน 
            (Vetiveria nemoralis A.Camus)
ลักษณะที่สำคัญ คือ ใบสีเขียวซีด หลังใบพับเป็นสันสามเหลี่ยม เนื้อใบหยาบ สากคาย มีไขเคลือบน้อย ทำให้ดูกร้านไม่เหลือบมัน ท้องใบสีเดียวกับด้านหลังใบ แต่มีสีซีดกว่า แผ่นใบเมื่อส่องกับแดดไม่เห็นรอยกั้นในเนื้อใบ เส้นกลางใบสังเกตได้ชัดเจน มีลักษณะแข็งเป็นแกนนูนทางด้านหลังช่อดอกของหญ้าแฝกดอนจะมีได้หลายสี ซึ่งเป็นลักษณะปกติประจำถิ่น และหญ้าแฝกดอนจะมีรากที่สั้นกว่า โดยทั่วไปหญ้าแฝกที่มีอายุประมาณ 1 ปี จะมีรากลึกประมาณ 80-100 ซม.
สายพันธุ์กำแพงเพชร 1
ลักษณะการแตกหน่อแน่น กอตั้ง หน่อมีขนาดใหญ่ ใบมีสีเขียวนวล หยาบกร้าน กาบใบสีฟ้านวล มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 1 ซม. ดอกสีม่วง


สายพันธุ์นครสวรรค์
ลักษณะเป็นกอกางเป็นพุ่ม มีการแตกหน่อแน่น ใบมีสีเขียว หยาบกร้าน กาบใบมีสีฟ้าอมเทา มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 0.8 ซม.ดอกสีม่วง


สายพันธุ์เลย
ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อแน่น ใบมีสีเขียว กาบใบมีสีชมพู ใบกร้าน มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 0.9 ซม. หน่อมีขนาดใหญ่ ดอกสีน้ำตาลอมม่วง


สายพันธุ์ร้อยเอ็ด
ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อแน่นหน่อมีขนาดเล็ก ใบมีสีเขียว หยาบกร้าน มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 0.5 เซนติเมตร ดอกสีน้ำตาล


สายพันธุ์ราชบุรี
มีลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อแน่น ใบมีสีเขียว หยาบกร้านมีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 1 ซม. ดอกสีม่วง


สายพันธุ์ประจวบคีรีขันธุ์
มีลักษณะกอกางเป็นพุ่ม มีการแตกหน่อแน่น ใบมีสีเขียว ท้องใบสีขาว มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 1 ซม. ใบจะค่อนข้างแบน ดอกสีม่วง


การขยายพันธุ์หญ้าแฝก

            การขยายแม่พันธุ์ คือการนำแม่พันธุ์หญ้าแฝกที่มีลักษณะดีมาทำการขยายเพิ่มปริมาณ ทั้งการปลูกลงดิน ปลูกลงถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนการขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝก คือการนำหน่อ ที่ได้จากการขยายแม่พันธุ์มาเพาะชำเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ ได้แก่ กล้าในถุงพลาสติกขนาดเล็ก และกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 
1.  การขยายแม่พันธุ์หญ้าแฝก
1.1การขยายพันธุ์ในแปลงขนาดใหญ่การขยายพันธุ์หญ้าแฝกในแปลงขนาดใหญ่ เหมาะสมกับพื้นที ที่มีการชลประทานและระบายน้ำดี สามารถปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องยกร่องก็ได้ การเตรียมต้นพันธุ์โดยแยกหน่อจากกอนำมาตัดใบให้เหลือความยาว 20 เซนติเมตร และตัดรากให้สั้นแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร เป็นระยะเวลา 5-7 วัน รากจะแตกออกมาใหม่นำไปปลูกโดยใช้ระยะปลูกห่างต้น 5 เซนติเมตร และระหว่างแถว 50 เซนติเมตร หลังจากปลูกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1 ช้อนชา เมื่อถึงอายุ 4-6 เดือน ให้ขุดนำไปเพาะชำในถุงพลาสติก หรือเตรียมเป็นกล้ารากเปลือยสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป 
1.2 การขยายพันธุ์ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ การขยายพันธุ์โดยการปลูกในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ โดยวางเป็นแถวคู่ติดกันระยะห่างระหว่างแถวคู่ 1 เมตร ยาวตามพื้นที่ใช้วัสดุปลูกที่มีการระบายน้ำดี เช่น ดินร่วนทรายและขี้เถ้าแกลบ หรือขุยมะพร้าว ในสัดส่วน 1:2:1 การติดตั้งระบบน้ำพ่นฝอย หรือมีตาข่ายพรางแสง นำหน่อมาปักชำดูแล จนกระทั่งอายุ 4 เดือน จึงนำไปแยกหน่อเพาะชำต่อไป


2. การขยายกล้าหญ้าแฝกสำหรับใช้ปลูก
2.1 การเตรียมกล้าหญ้าแฝกในถุง โดยตัดรากให้สั้นและแยกหน่อจากกอตัดใบ ให้ยาว 10 เซนติเมตร นำมาล้างน้ำ มัดรวมกันวางลงบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร ในที่ร่มเงา 4 วัน แล้วจึงคัดหน่อที่ออกรากมาปักชำในถุงพลาสติกขนาดเล็ก (2X6 นิ้ว) และใส่วัสดุเพาะชำที่ระบายน้ำดีมีธาตุอาหารสมบูรณ์ ดูแลรดน้ำ ในสภาพเรือนเพาะชำ เมื่ออายุ 45-60 วัน ให้นำไปปลูกในพื้นที่ขณะที่ดินมีความชื้น 
2.2 การเตรียมกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย โดยการแยกหน่อจากกอ ตัดใบ ให้ยาว 20 เซนติเมตร ตัดรากให้สั้น วางบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในน้ำให้ท่วมราก จนกระทั้งรากงอกขึ้นมายาว 1-2 เซนติเมตร นานประมาณ 5-7 วัน จึงนำไปปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และหลังจากปลูกดินควรมีความชื้นติดต่อกันอย่างน้อย 15 วัน



การเตรียมกล้าและดินเพื่อปลูกหญ้าแฝก


1. การกำจัดวัชพืชและเตรียมพื้นที่ 
2. การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝน พื้นที่ปลูกต้องมีความชุ่มชื้น 
3. การเตรียมแนวร่องปลูก โดยการวางแนวร่องปลูกขวางความลาดชัน ตามแนวระดับขนานไปตามสภาพพื้นที่ 
4. การใส่ปุ๋ยหมักรองก้นหลุมในแนวร่องปลูก เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน 
5. การปลูกกล้าหญ้าแฝกในแปลงปลูก โดยการใช้กล้าเพาะชำถุงขนาดเล็ก ใช้ระยะปลูก 10 เซนติเมตร หรือกล้ารากเปลือยใช้ระยะปลูก 5 เซนติเมตร 
6. ความห่างของแถวหญ้าแฝกแต่ละแถว ขึ้นกับความลาดเทของพื้นที่ และชนิดของพืชที่ปลูก โดยขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ แต่โดยทั่วไปจะใช้ระยะห่างทางแนวดิ่ง1.5-3 เมตร 
7. กลบดินในร่องปลูกให้ต่ำกว่าระดับผิวดินปกติ เพื่อให้น้ำขัง และซึมลงดินได้ ช่วยให้ดินชุ่มชื้นขึ้น 
8. ควรปลูกซ่อมแซมให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่เป็นแนวยาวต่อเนื่อง


การดูแลรักษาหญ้าแฝก
1. การคัดเลือกกล้าที่มีคุณภาพ กล้าหญ้าแฝกที่มีคุณภาพโดยทั่วไปเป็นกล้าที่มีอายุ 45 ถึง 60 วัน เมื่อนำกล้าที่แข็งแรงมาปลูกก็จะได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่มีการเจริญเติบโตแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ 
2. การเลือกช่วงเวลาปลูก การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝนจะเหมาะสมที่สุด สภาพของดินที่ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจะมีความชุ่มชื้นสูงติดต่อกันมากกว่า 15 วันขึ้นไป 
3. การตัดใบ ในช่วงต้นฤดูฝนให้ตัดใบหญ้าแฝกให้สั้นสูงจากพื้นผิว 5 เซนติเมตร เพื่อให้เกิดการแตกหน่อใหม่ และกำจัดหน่อแก่ที่แห้งตาย ในช่วงกลางฤดูฝนให้เกี่ยว ใบสูงไม่ต่ำกว่า 45 เซนติเมตร เพื่อให้มีแนวกอที่หนาแน่นในการรับแรงประทะของน้ำไหลบ่า และในช่วงปลายฤดูฝน เกี่ยวใบให้สั้น 5 เซนติเมตร อีกครั้งเพื่อให้หญ้าแฝกแตกใบเขียว ในฤดูแล้ง 
4. การดูแลรักษาตามความเหมาะสม ในต้นฤดูฝนให้ใส่ปุ๋ยหมักตามแถวหญ้าแฝก ก็จะเป็นการช่วยให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และกำจัดวัชพืชข้างแนวจะเป็นการช่วยให้สังเกตแนวหญ้าแฝกได้ชัดเจน ช่วยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และเพื่อป้องกันการไถแนวทิ้งเนื่องจากสังเกตไม่เห็น 
5. การปลูกซ่อมและแยกหน่อแก่ออก การปลูกซ่อมแซมในช่วงฤดูฝนจะทำให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่แข็งแรง และควรตัดแยกหน่อแก่ที่ออกดอกหรือแห้งออกไปเพื่อจะให้หน่อใหม่ได้แทรกขึ้นมาได้อย่างเต็มที่ 



การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรม


สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย 
1. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน


2. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอและแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหลอาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก


3. การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลง ไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป


4. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูก หญ้าแฝกเป็นแนวระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน


5. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่มที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝกจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้


6. การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่นเมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระและระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการ พังทลาย


วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของหญ้าแฝก


1. ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
2. แถวหญ้าแฝกช่วยกักเก็บตะกอนดิน
3. ลดความแรงของน้ำที่ไหลบ่า
4. ช่วยกักเก็บน้ำไว้ในดินและพื้นที่ตอนบน
5. ลดการสูญเสียธาตุอาหารพืชจากพื้นที่
6.  เพิ่มอินทรียวัตถุแก่ดิน
7. รักษาความชื้นในดิน
8. ช่วยให้ดินมีการระบายน้ำดีขึ้น
9. ทำให้ดินโปร่งและระบายอากาศของดินดี
10. เพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน

หญ้าแฝก


ที่มาของแหล่งข้อมูล : กรมพัฒนาที่ดิน